วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

การสังคายนาพระธรรมวินัย ๙ ครั้ง

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้ง

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

การสังคายนาพระธรรมวินัย หมายถึง การประชุมสงฆ์เพื่อชำระพระธรรมวินัยให้เป็นแบบเดียวกัน การร้อยกรองพระธรรมวินัย หมายถึง การรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า นำมาจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะเสียใหม่ สืบเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนของพุทธวจนะ คัมภีร์ และเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา พุทธบริษัทผู้เป็นทายาทแห่งพระพุทธศาสนา มองเห็นภัยและคุณประโยชน์ดังกล่าว จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะเสียใหม่ โดยทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นต้นกำหนดโดยมุขปาฐะและจารึกไว้เป็นหลักฐานในชั้นหลัง การสังคายนาพระธรรมวินัยเริ่มตั้งแต่หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเป็นต้นมา

การนับสังคายนาพระธรรมวินัยของไทย

ตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมของไทยรับรองการสังคายนาครั้งที่ ๑ – ๒ – ๓ ในอินเดีย และครั้งที่ ๑ – ๒ ในประเทศลังกา รวม ๕ ครั้ง ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถือว่าการสังคายนาในลังกาทั้งสองครั้งเป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไป จึงทรงบันทึกพระมติไว้ในท้ายหนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๓

แต่หนังสือสังคีติยวงศ์หรือประวัติแห่งการสังคายนา ซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนรจนาเป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม ได้ลำดับความเป็นมาแห่งสังคายนาไว้ ๙ ครั้ง ดังต่อไปนี้

สังคายนาครั้งที่ ๑ – ๒ – ๓ ทำในประเทศอินเดีย

การสังคายนาครั้งที่ ๑ พระมหากัสสปเถระปรารภถ้อยคำของพระภิกษุชื่อสุภัททะ ผู้บวชเมื่อภายแก่ เมื่อรู้ข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก สุภัททภิกษุก็ห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจร้องไห้ เพราะอ้างว่าต่อนี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจแล้ว ไม่ต้องมีใครมาคอยชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควร พระมหากัสสปเถระสลดใจในถ้อยคำของสุภัททภิกษุ จึงนำเรื่องเสนอที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอชวนให้ทำสังคายนาร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบและเพื่อกำหนดมิให้ผู้ใดละเมิดต่อไป

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือนทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน และเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระสูตร พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๕๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๒ พระยสกากัณฑกบุตร ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อนทางวินัย ๑๐ ประการ ของพวกภิกษุวัชชีบุตร คือ เก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อฉันกับอาหารที่มีรสไม่เค็มได้ ฉันอาหารเมื่อเงาเลยเวลาเที่ยงไป ๒ องคุลี (นิ้ว)ได้ เข้าบ้านฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนได้ ทำอุโบสถแยกกันในอาวาสที่มีเสมาเดียวกันได้ ทำสังฆกรรม ในเมื่อภิกษุทั้งหลายมาไม่พร้อมกันแล้วอนุมัติภายหลังได้ ประพฤติตามแบบที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมาได้ ฉันนมสดที่แปรไปแล้วแต่ยังไม่เปรี้ยวได้ ดื่มสุราอย่างอ่อนๆ ได้ ใช้ผ้ารองนั่งที่ไม่มีชายได้ และรับทองรับเงินได้ ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ ดังที่ปรากฏชื่อมี ๘ รูป คือ พระสัพพกามี พระสาหฬะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ พระเรวตะ พระสัมภูตะ สาณวาสี พระยสะ และ พระสุมนะ ให้ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความถือผิดครั้งนี้

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี ทำ ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสกากัณฑกบุตร เป็นประธานและผู้ชักชวนในการสังคายนา พระเรวตะเป็นผู้ปุจฉา พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ได้กระทำสังคายนาเพื่อชำระมลทินในพระพุทธศาสนา พระเจ้ากาลาโศกราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๘ เดือนจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระปรารภพวกเดียรถีร์หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อลาภสักการะ แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระภิกษุสงฆ์ไม่ได้ทำอุโบสถ และไม่ได้ทำปวารนากันถึง ๗ ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนและกำจัดเดียรถีร์เหล่านั้นออกจากพระธรรมวินัย

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี ทำ ณ อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานและผู้ถาม พระมัชฌันติกเถระ พระมหาเทวเถระ และภิกษุชาวเมืองปาฏลีบุตรเป็นผู้ตอบ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป การกระทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา ๙ เดือนจึงสำเร็จ

เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จแล้วพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้พิจารณาเห็นว่า พระพุทธศาสนาจักไม่ตั้งมั่นในชมพูทวีป แต่จักไปตั้งมั่นในนานาประเทศ จึงได้ขอความอุปถัมภ์พระเจ้าอโศกมหาราชให้จัดส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา ๙ สาย คือ

สายที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ แคว้น กัสมีระ และแคว้นคันธาระ ปัจจุบันได้แก่ ดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และบางส่วนของประเทศอัฟกานิสถาน

สายที่ ๒ พระมหาเทวเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหิสมณฑล ปัจจุบันได้แก่ แคว้นไมซอร์หรือมานธาดา และบริเวณลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ทางภาคใต้ของอินเดีย

สายที่ ๓ พระรักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นกนราเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย

สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ อปรันตปชนบท ได้แก่ ดินแดนแถบชายทะเลเหนือเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย

สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฏร์ ได้แก่ ดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย

สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ โยนกประเทศ ได้แก่ แคว้นของฝรั่งชาติกรีกในทวีปเอเชียกลางเหนือประเทศอิหร่านขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน

สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยพระกัสสปโคตตเถระ พระอฬกเทวเถระ พระทุนทภิสสรเถระ พระสหัสสเทวเถระ ไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย

สายที่ ๘ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ ดินแดนแถบประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

สายที่ ๙ พระมหินทเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช พร้อมด้วยพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระสัมพลเถระ และพระภัททสารเถระ และคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป คือ ประเทศศรีลังกา

สังคายนาครั้งที่ ๔-๕ ทำในลังกา คือ ครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ทำในลังกา

การสังคายนาครั้งที่ ๔ พระมหินทเถระเป็นพระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช พร้อมด้วยพระเถระ ๕ รูป ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสส แสดงธรรมให้พระราชาเลื่อมใส และประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในลังกา การสังคายนาครั้งนี้พระมหินทเถระปรารถนาที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในลังกาทวีปและเป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำพุทธวจนะ ตามแนวที่จัดระเบียบไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดีย

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๓๘ ปี ทำ ณ ถูปาคาม เมืองอนุราชบุรี ประเทศศรีลังกา พระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐเถระเป็นผู้ตอบ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๖๘,๐๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๑๐ เดือนจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๕ พระพุทธทัตตเถระปรารภเหตุว่า ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะอีกต่อไปก็อาจจะมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของมนุษย์เสื่อมถอยลง จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลานและได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๔๓๓ ปี ทำ ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบทหรือมลัยชนบท ประเทศศรีลังกา พระพุทธทัตตเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระมหาติสสเถระเป็นผู้ตอบ พระเจ้าวัฏฏคามนีอภัยทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๖ พระพุทธโฆสเถระหรือพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระชาวชมพูทวีป ผู้เปรื่องปราดมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี พิจารณาเห็นว่าคัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกนั้นมีสมบูรณ์ บริบูรณ์อยู่แล้วในลังกาทวีป แต่ยังเป็นภาษาสิงหล ท่านจึงเดินทางไปลังกาทวีป ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้ามหานามเพื่อแปลและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ เพื่อให้เป็นตันติภาษา คือ ภาษาที่มีแบบแผนให้สอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งจะได้รับประโยชน์อย่างกว้างขวางอีกต่อไป นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกาทวีป

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ทำ ณ โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา พระพุทธโฆสเถระเป็นประธาน พระเจ้ามหานามทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นเวลา ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๗ พระมหากัสสปเถระและคณะสงฆ์ได้พิจารณาเห็นว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่า ปาลิ นั้นเป็นภาษามคธอักษรบาลี คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่า อรรถกถาได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธ อันเป็นตันติภาษาที่สอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ส่วนคัมภีร์อธิบายอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และคัมภีร์อธิบายฎีกา เรียกว่า อนุฎีกา ที่ยังไม่ได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธ ซึ่งเป็นภาษาสิงหลบ้าง ภาษาสิงหลปะปนกับภาษามคธบ้าง จึงควรจะได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธให้หมด จึงได้ดำเนินการแปลและเรียบเรียงคัมภีร์ดังกล่าวเป็นภาษามคธ ให้เป็นตันติภาษา คือ ภาษาที่มีแบบแผน เช่นเดียวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถา นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๔ ในลังกาทวีป

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาสันนิษฐานว่าน่าจะกระทำที่โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระเจ้าปรักกมพาหุทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป ใช้เวลาในการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นเวลา ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๘ พระธรรมทินเถระได้พิจารณาเห็นว่า พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ซึ่งมีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่มาก ด้วยการจำลองหรือคัดลอกกันต่อๆ มาเป็นเวลาช้านาน จึงได้เข้าเฝ้าถวายพระพรขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าติโลกราช เพื่อตรวจชำระพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกาให้ถูกต้องเสียใหม่

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ ทำ ณ วัดโพธาราม เมืองพิสิกร คือ เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย พระธรรมทินเถระเป็นประธานและเป็นการกสงฆ์ คือ กรรมการเฉพาะกิจสงฆ์ในการเลือกพระสงฆ์จำนวนหลายร้อยรูป ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกาแล้วจารึกลงไว้ในใบลานด้วยอักษรธรรมของล้านนา นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๑ ในอาณาจักรล้านนา พระเจ้าติโลกราชหรือพระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๙ ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก เพื่อชำระและแปลพระไตรปิฎกฉบับอักษรลาว และอักษรรามัญให้เป็นอักษรขอมแล้วจารึกลงใบลาน เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทอง ในครั้งนั้นมีพระสงฆ์ร่วมประชุม ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตอาจารย์อุบาสก ๓๒ คน สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระอภิธัมมปิฎก และพระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเสส (ตำราไวยากรณ์และอธิบายศัพท์ต่างๆ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการทำสังคายนาครั้งนี้ ๕ เดือนจึงสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น