วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

กฎระเบียบแม่ชีวัดท้าวโคตร

กฎระเบียบแม่ชีวัดท้าวโคตร

๑. แม่ชีทุกคนต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาวาส

๒. แม่ชีจะใช้สิทธิครอบครองสมบัติของสงฆ์มาเป็นของตนไม่ได้

๓. แม่ชีทุกคนจะต้องช่วยกันเอาใจใส่ดูแล รักษาและรับผิดชอบสมบัติของสงฆ์ที่ตนใช้และอยู่อาศัย ถ้าทำส่วน

ใดขาดตกบกพร่อง แตกหัก ทำลายไปต้องชดใช้เท่าที่เสียไป สำหรับที่อยู่อาศัยถ้าส่วนใดชำรุด ผุพัง

ก็ต้องจัดการซ่อมแซมโดยไม่ปล่อยปละละเลย

๔. แม่ชีจะปลูกหรือก่อสร้างอะไรลงไปในธรณีสงฆ์ ต้องถวายเป็นของสงฆ์จึงจะปลูกสร้างลงไปได้

๕. แม่ชีต้องคัดเลือกตัวบุคคลของแม่ชีเองขึ้นมารับผิดชอบต่อหมู่คณะ

๖. แม่ชีที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมานั้นต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของเจ้าอาวาสด้วย

๗. ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อหมู่คณะของตน

๘. ผู้ที่จะมาขอบวชกับแม่ชีท่านหนึ่งท่านใด ต้องไปพบกับหัวหน้าเพื่อขอใบรับสมัคร และระเบียบการของวัด

๙. แม่ชีผู้เป็นหัวหน้าต้องรับผิดชอบฝึกฝนผู้ที่มาติดต่อขอบวชนั้น ให้เป็นที่ถูกต้องของสถาบันแม่ชีแล้ว จึง

นำไปรับศีลขอบวช

๑๐. แม่ชีต้องท่องจำและเข้าใจข้อห้ามแห่งศีลที่ตนรักษานั้นได้ทุกข้อ และถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติเป็นศีล

๑๑. ถ้าพลั้งเผลอผิดพลาดในศีลข้อใด ต้องแสดงโทษแห่งความผิดพลาดของตนให้ที่ประชุมได้ทราบในทุกวันโกน

๑๒. สำหรับผู้บวชใหม่ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้า

๑๓. ในกรณีที่ไม่รู้หนังสือต้องขวนขวายขอความช่วยเหลือจากเพื่อนพรหมจรรย์ ให้ฝึกกันจนกว่าจะจำและ

เข้าใจจนไม่ละเลย และหลังจากที่รับคำสั่งนี้แล้ว ห้ามหัวหน้าแม่ชีรับผู้ที่ไม่รู้หนังสือเข้ามาบวช (เว้นใน

กรณีที่บวชแก้บนและยอมรับกฎระเบียบนี้ได้เท่านั้น แต่ต้องสึกคามที่กำหนดไว้)

๑๔. ถ้าแม่ชีท่านใดที่บวชครบกำหนดแล้วแต่ศรัทธาที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์กันต่อไป หัวหน้าต้องส่งเสริม

เกื้อกูลให้เป็นอยู่ต่อไป

๑๕. หัวหน้าต้องไม่แสดงถึงความรังเกียจ เบียดบัง กีดกัน บีบคั้น หรือการกระทำใดๆที่มิชอบมิควรต่อผู้ที่อยู่

ภายใต้การปกครอง ที่มิได้กระทำผิดและบกพร่องในกกระเบียบ

๑๖. แม่ชีต้องไม่ออกไปเที่ยวอย่างสะเปะสะปะด้วยเหตุที่ไม่จำเป็น ถ้าต้องไปค้างคืนต้องกราบลาและแจ้ง

จุดประสงค์ พร้อมกับอบกุญแจห้องให้ด้วย

๑๗. ถ้าแม่ชีท่านใดออกจากวัดไปเกิน เดือน ถือเป็นการสละสิทธิ์ที่พักของตน หัวหน้าจะจัดให้ใครอยู่ก็ได้

อย่างหมดเงื่อนไข

๑๘. ผู้ออกไปแล้ว ถ้าจะมาอยู่ใหม่ต้องอยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหรือเจ้าอาวาส

๑๙. ถ้าแม่ชีท่านใดที่บวชอยู่นาน เกิดการขาดแคลนในปัจจัยสี่ หรือช่วยตัวเองไม่ได้ในกรณีใดๆ หัวหน้าต้อง

ช่วยพิจารณาสงเคราะห์ท่านผู้นั้นด้วยเหตุอันควร

๒๐. ถ้าแม่ชีท่านใดชอบความสันโดษ ต้องการออกภิกขาจารย์ เพื่อให้ชีวิตเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่นต้องประพฤติ

ตามวินัยของสงฆ์ที่ว่าด้วยบิณฑบาตอย่างถูกต้อง ถ้ากระทำมิได้ให้งดการกระทำนั้นเสีย

๒๑. แม่ชีบวชอยู่ประจำ ต้องท่องจำทำวัตร เช้า-เย็น อุปกิเลสและสาราณียธรรมให้ได้ และหัวหน้าต้องเอาใจ

ใส่ทดสอบให้ได้

๒๒. แม่ชีที่ไม่ผ่านการศึกษาธรรม ตรี-โท-เอก ต้องเข้าเรียนตามข้อบังคับของวัด สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียน

ได้ หัวหน้าแม่ชีต้องรับผิดชอบในการจัดฝึกอบรมเป็นพิเศษ เน้นเรื่องคิหิปฏิบัติให้เป็นที่เข้าใจ

๑๒. ผู้ที่จะจัดฝึกหัดมาเป็นประธานนำสวด ต้องเลือกสรรบุคคลที่เหมาะสม ที่บุคคลส่วนใหญ่ยอมรับ และต้อง

จำบทสวดนั้นได้ด้วย

๒๔. แม่ชีที่ออกรับนิมนต์จากบุคคลภายนอก ต้องแต่งตัวอย่างสุภาพ มีความสังวรระวังในกริยามารยาทเป็น

อย่างดีและต้องจำบทที่สวดนั้นให้คล่อง

๒๕. แม่ชีท่านใดออกไปทำในสิ่งที่มิดีมิควรอย่างขาดความละอายใจ อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อหมู่

คณะ ให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาแนะนำเสนอในที่ประชุมด้วย

๒๖. แม่ชีต้องนัดประชุมเพื่อรับสุข-ทุกข์-ผิด-ถูก-บกพร่อง หรือร่วมปรับปรุงแก้ไขในเรื่องต่างๆ อันเป็น

ประโยชน์ต่อส่วนรวม ทุกๆวันโกนโดยพร้อมเพรียงกัน

๒๗. ในกรณีที่สงฆ์ขอความช่วยเหลือในทางที่ถูกที่ควรแล้ว แม่ชีต้องให้ความร่วมมืออย่างไม่ดุแคลน

๒๘. ถ้าแม่ชีท่านใดฝ่าฝืนในกฎระเบียบที่กล่าวมาแล้วหรือบกพร่อง ในเรื่องอื่นใดๆ อันเป็นเหตุมิควรให้

หัวหน้าเรียกมาตักเตือนสั่งสอนเป็นการส่วนตัว

พระครูวรวิริยคุณ

เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๐

พิธีบวชชี-ชีพราหมณ์

พิธีบวชชี-ชีพราหมณ์

คำขอขมาโทษ

โย โธโส โมหะจิตเตนะ พุทธัสมิง ปะคะโต มะยา ชะมะถะ เม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสะตุ

โย โธโส โมหะจิตเตนะ ธัมมัสมิง ปะกะโต มะยา ชะมะถะ เม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสะตุ

โย โธโส โมหะจิตเตนะ สังฆัสมิง ปะกะโต มะยา ชะมะถะ เม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสะตุ

คำบวชชี

เอสาหัง ภัตเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณังคัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ปัพพัชชัง มัง ภันเต, สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง คะตัง.

คำบวชชีพราหมณ์

เอสาหัง ภัตเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณังคัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ,

ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย, สีละจาริณี ละเภยยัง, ปัพพัชชัง ยาจามิ.

คำแปล

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จดับขันธพระปรินิพพานนานแล้ว กับทั้งพระธรรมและพรสงฆ์ ว่าเป็นสะระณะที่พึ่งที่ระลึก ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นผู้บวชในพระธรรมวินัย ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสะระณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป.

คำอาราธนศีล ๘

มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ (มิ)

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ (มิ)

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามะ (มิ)

หมายเหตุ ! ถ้าคนเดียวว่า อะหัง แทน มะยัง และ ยาจามิ แทน ยาจามะ

คำสมาทานศีล ๘

๑. ปาณาติปาตา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า

๒. อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการลักฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเองและไม่ใช้ให้คนอื่นลัก ฉ้อ

๓. อะพรัหมะจริยา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการอสัทธรรมกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

๔. มุสาวาทา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จไม่เป็นจริงและคำล่อลวง

๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการดื่ม กิน สุราเมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งต่างๆ

วิกาละโภชนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะมาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะปัฌฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการดู ฟัง ฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่างๆ และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และห้ามทัดทรงตกแต่งร่างกาย ด้วยเครื่องประดับและของหอม เครื่องทา เครื่องย้อม ผัดผิวให้งดงามต่างๆ

๘. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาธิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิขาบท คือ เว้นจากการ

อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ (ว่า ๓ ครั้ง)

คำลาสิกขา-บวชชี-ชีพราหมณ์

อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปทานิ นิกขิปามิ (ว่า 3 ครั้ง)

ข้าพเจ้าขอลาบวชี ชีพราหมณ์ไว้แต่เพียงเท่านี้

คำอาราธนาธรรม

คำอาราธนาธรรม

พรัหมา จะ โลกา ธิปะตีสหัมปะติ

กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ

สันตีธะ สัตตาป- ปะระชักขชาติกา

เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชัง

ท้าวสหัมบดีพรหม เป็นบรมในพรหมา

ทรงฤทธิศักดา กว่าบริษัททุกหมู่พรหม

น้อมหัตถ์นมัสการ ประดิษฐาน ณ ที่สม

ควรแล้วขอบังคม ชุลีบาทพระสัมมา

ขอพรอันประเสริฐ วะระเลิศมโหฬา

ปวงสัตว์ในโลกา กิเลสน้อยก็ยังมี

ขอองค์พระจอมปราชญ์ สู่ธรรมาสอันรูจี

โปรดปวงประชานี้ ท่านจงโปรดแสดงธรรม

นิมนต์ท่านเจ้าข้า ผู้ปรีชาอันเลิศล้ำ

โปรดแสดงพระสัจธรรม เทศนาและวาที

เพื่อให้สำเร็จผล แก่ปวงชนบรรดามี

สู่สุขเกษมศรี สมดังเจตนา เทอญ


อาราธนาธรรมพิเศษ

(ใช้อาราธนาในวันพระ ขึ้น,แรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๔, ๑๕ ค่ำ)

จาตุททะสี ปัณณะระสี ยา จะ ปักขัสสะ อัฏฐะมี

กาลา พุทเธนะ ปัญญัตตา สัทธัมมัสสะวะนัสสิเม

อัฏฐะมี โข อะยันทานิ สัมปัตตา อะภิลักขิตา

เตนายัง ปะริสา ธัมมัง โสตุง อิธะ สะมาคะตา

สาธุ อัยโย ภิกขุสังโฆ กะโรตุ ธัมมะเทสะนัง

อะยัญจะ ปะริสา สัพพา อัฏฐิกัต์วา สุณาตุ ตันติฯ

หมายเหตุ ถ้าวันพระ ๑๕ ค่ำ ว่า ปัณณะระสี ถ้า ๑๔ ค่ำว่า จาตุททะสี

สิบสี่และสิบห้า ตามคุณาปักสิบสี่ (๘ ค่ำอัฏฐมี ๑๕ ค่ำปัณรสี)

โดยวิถีปักดีจันทร์ พระองค์ทรงโปรดให้

ชนทั้งหลายเกษมสันต์ ฟังธรรมประจำวัน

พระโปรดมั่นนิรันดร บัดนี้ขึ้นแปดค่ำ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ)

วันฟังธรรมะสโมสร มาถึงอย่าพึงจร

ร่วมรับพรในสภา นิมนต์พระคุณเจ้า

โปรดชี้กล่าวเทศนา แก่เหล่าชาวประชา

ให้บ่ายหน้า ไปนิพพาน

บริษัททั้งหมดนี้ ตั้งใจดีทุกสถาน

ปราบจิตที่คิดซ่าน ค่อยฟังท่านแสดง เทอญฯ


คำสาธุการ(เฉพาะอุบาสิกา)

สาธุ สาธุ สาธุ

อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะตา

อุปาสิกัตตัง เทเสสิง ภิกขุสังฆัสสะ สัมมุขา

เอตัง เม สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง

เอตังสะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะเย

ยะถาพลัง จะเรยยาหัง สัมมาสัมพุทธะสาสะนัง

ทุกขะนิสสะระณัสเสวะ ภาคินิสสัง อะนาคะเตฯ


คำอาราธนาพระปริตร

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะ ทุกขะ วินาสายะ ปะริตัง พรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะ ภะยะ วินาสายะ ปะริตัง พรูถะ มังคะลัง

วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา

สัพพะ โรคะ วินาสายะ ปะริตัง พรูถะ มังคะลัง


คำสมาทานพระกัมมัฏฐาน

คำสมาทานพระกัมมัฏฐาน
คำสมาทานกัมมัฏฐาน

อิมาหัง ภันเต ภะคะวา, อัตตะภาวัง ตุม์หากัง ปะริจจะชามิ
ข้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆเจ้า อันหาประมาณมิได้ มาอภิบาลคุ้มครอง ปกปักรักษาข้าพเจ้า อย่าให้มีอุปสรรคและภัยอันตรายใดๆ ทั้งปวง ขอให้ดวงจิตของข้าพเจ้าตั้งอยู่ในสมาธิ เข้าถึงฌาน อภิญญา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

คำสมาทานกัมมัฏฐาน (อีกแบบหนึ่ง)
อุกาสะ อุกาสะ ณ โอกาสะบัดนี้ ข้าพเจ้าขอสมาทาน เอาซึ่งพระกัมมัฏฐาน ขอให้สมาธิและวิปัสสนาญาณ จงบังเกิดมีในขันธสันดารของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้สามหนหรือเจ็ดหน ร้อยหนหรือพันหน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

คำอธิฐานออกจากสมาธิ
ด้ายอานุภาพแห่งบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สวดมนต์ไหว้พระ และเจริญพระกัมมัฏฐานมาแล้วนั้น ขอจงเป็นพลวปัจจัย เป็นอุปนิสัยตามส่ง ให้เกิดปัญญาญาณทั้งชาตินี้และชาติหน้า ตลอดชาติเป็นอย่างยิ่งจนถึงความพ้นทุกข์ คือ พระนิพพาน เทอญ

กรวดน้ำแบบสั้น
อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลาย ของข้าพเจ้าเถิด
ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด
ข้าพเจ้าตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้ไปให้ไพศาล
ถึงมารดาบิดาและอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
คนเคยร่วมทำงานการทั้งหลาย
มีส่วนได้ในกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ
ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้ เทอญ

คำแผ่เมตตา
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้พยาบาท เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

คำลาพระรัตนตรัย
พุทธัง วันทามิ, ข้าพเจ้าไหว้พระพุทธเจ้า
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ ๑ ครั้ง)
ธัมมัง วันทามิ, ข้าพเจ้าไหว้พระธรรม
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ ๑ ครั้ง)
สังฆัง วันทามิ, ข้าพเจ้าไหว้พระสงฆ์
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ (กราบ ๑ ครั้ง)
มาตาปิตะรัง วันทามิ, ข้าพเจ้าไหว้บิดามารดา (กราบ ๑ ครั้ง)
อาจาริยัง วันทามิ, ข้าพเจ้าไหว้อาจารย์ (กราบ ๑ ครั้ง)
(ถ้าคนเดียวว่า ยัง หลายคนว่า เย )

การสังคายนาพระธรรมวินัย ๙ ครั้ง

การสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้ง

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

การสังคายนาพระธรรมวินัย หมายถึง การประชุมสงฆ์เพื่อชำระพระธรรมวินัยให้เป็นแบบเดียวกัน การร้อยกรองพระธรรมวินัย หมายถึง การรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า นำมาจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะเสียใหม่ สืบเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนของพุทธวจนะ คัมภีร์ และเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา พุทธบริษัทผู้เป็นทายาทแห่งพระพุทธศาสนา มองเห็นภัยและคุณประโยชน์ดังกล่าว จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะเสียใหม่ โดยทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นต้นกำหนดโดยมุขปาฐะและจารึกไว้เป็นหลักฐานในชั้นหลัง การสังคายนาพระธรรมวินัยเริ่มตั้งแต่หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเป็นต้นมา

การนับสังคายนาพระธรรมวินัยของไทย

ตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมของไทยรับรองการสังคายนาครั้งที่ ๑ – ๒ – ๓ ในอินเดีย และครั้งที่ ๑ – ๒ ในประเทศลังกา รวม ๕ ครั้ง ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถือว่าการสังคายนาในลังกาทั้งสองครั้งเป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไป จึงทรงบันทึกพระมติไว้ในท้ายหนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๓

แต่หนังสือสังคีติยวงศ์หรือประวัติแห่งการสังคายนา ซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนรจนาเป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม ได้ลำดับความเป็นมาแห่งสังคายนาไว้ ๙ ครั้ง ดังต่อไปนี้

สังคายนาครั้งที่ ๑ – ๒ – ๓ ทำในประเทศอินเดีย

การสังคายนาครั้งที่ ๑ พระมหากัสสปเถระปรารภถ้อยคำของพระภิกษุชื่อสุภัททะ ผู้บวชเมื่อภายแก่ เมื่อรู้ข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก สุภัททภิกษุก็ห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจร้องไห้ เพราะอ้างว่าต่อนี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจแล้ว ไม่ต้องมีใครมาคอยชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควร พระมหากัสสปเถระสลดใจในถ้อยคำของสุภัททภิกษุ จึงนำเรื่องเสนอที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอชวนให้ทำสังคายนาร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบและเพื่อกำหนดมิให้ผู้ใดละเมิดต่อไป

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือนทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน และเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระสูตร พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๕๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๒ พระยสกากัณฑกบุตร ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อนทางวินัย ๑๐ ประการ ของพวกภิกษุวัชชีบุตร คือ เก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อฉันกับอาหารที่มีรสไม่เค็มได้ ฉันอาหารเมื่อเงาเลยเวลาเที่ยงไป ๒ องคุลี (นิ้ว)ได้ เข้าบ้านฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนได้ ทำอุโบสถแยกกันในอาวาสที่มีเสมาเดียวกันได้ ทำสังฆกรรม ในเมื่อภิกษุทั้งหลายมาไม่พร้อมกันแล้วอนุมัติภายหลังได้ ประพฤติตามแบบที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมาได้ ฉันนมสดที่แปรไปแล้วแต่ยังไม่เปรี้ยวได้ ดื่มสุราอย่างอ่อนๆ ได้ ใช้ผ้ารองนั่งที่ไม่มีชายได้ และรับทองรับเงินได้ ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ ดังที่ปรากฏชื่อมี ๘ รูป คือ พระสัพพกามี พระสาหฬะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ พระเรวตะ พระสัมภูตะ สาณวาสี พระยสะ และ พระสุมนะ ให้ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความถือผิดครั้งนี้

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี ทำ ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสกากัณฑกบุตร เป็นประธานและผู้ชักชวนในการสังคายนา พระเรวตะเป็นผู้ปุจฉา พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ได้กระทำสังคายนาเพื่อชำระมลทินในพระพุทธศาสนา พระเจ้ากาลาโศกราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๘ เดือนจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระปรารภพวกเดียรถีร์หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อลาภสักการะ แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระภิกษุสงฆ์ไม่ได้ทำอุโบสถ และไม่ได้ทำปวารนากันถึง ๗ ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนและกำจัดเดียรถีร์เหล่านั้นออกจากพระธรรมวินัย

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี ทำ ณ อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานและผู้ถาม พระมัชฌันติกเถระ พระมหาเทวเถระ และภิกษุชาวเมืองปาฏลีบุตรเป็นผู้ตอบ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป การกระทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา ๙ เดือนจึงสำเร็จ

เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จแล้วพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้พิจารณาเห็นว่า พระพุทธศาสนาจักไม่ตั้งมั่นในชมพูทวีป แต่จักไปตั้งมั่นในนานาประเทศ จึงได้ขอความอุปถัมภ์พระเจ้าอโศกมหาราชให้จัดส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา ๙ สาย คือ

สายที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ แคว้น กัสมีระ และแคว้นคันธาระ ปัจจุบันได้แก่ ดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และบางส่วนของประเทศอัฟกานิสถาน

สายที่ ๒ พระมหาเทวเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหิสมณฑล ปัจจุบันได้แก่ แคว้นไมซอร์หรือมานธาดา และบริเวณลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ทางภาคใต้ของอินเดีย

สายที่ ๓ พระรักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นกนราเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย

สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ อปรันตปชนบท ได้แก่ ดินแดนแถบชายทะเลเหนือเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย

สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฏร์ ได้แก่ ดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย

สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ โยนกประเทศ ได้แก่ แคว้นของฝรั่งชาติกรีกในทวีปเอเชียกลางเหนือประเทศอิหร่านขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน

สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยพระกัสสปโคตตเถระ พระอฬกเทวเถระ พระทุนทภิสสรเถระ พระสหัสสเทวเถระ ไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย

สายที่ ๘ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระพร้อมด้วยคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ ดินแดนแถบประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

สายที่ ๙ พระมหินทเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช พร้อมด้วยพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระสัมพลเถระ และพระภัททสารเถระ และคณะไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป คือ ประเทศศรีลังกา

สังคายนาครั้งที่ ๔-๕ ทำในลังกา คือ ครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ทำในลังกา

การสังคายนาครั้งที่ ๔ พระมหินทเถระเป็นพระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช พร้อมด้วยพระเถระ ๕ รูป ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสส แสดงธรรมให้พระราชาเลื่อมใส และประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในลังกา การสังคายนาครั้งนี้พระมหินทเถระปรารถนาที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในลังกาทวีปและเป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำพุทธวจนะ ตามแนวที่จัดระเบียบไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดีย

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๒๓๘ ปี ทำ ณ ถูปาคาม เมืองอนุราชบุรี ประเทศศรีลังกา พระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐเถระเป็นผู้ตอบ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๖๘,๐๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๑๐ เดือนจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๕ พระพุทธทัตตเถระปรารภเหตุว่า ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะอีกต่อไปก็อาจจะมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของมนุษย์เสื่อมถอยลง จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลานและได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๔๓๓ ปี ทำ ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบทหรือมลัยชนบท ประเทศศรีลังกา พระพุทธทัตตเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระมหาติสสเถระเป็นผู้ตอบ พระเจ้าวัฏฏคามนีอภัยทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๖ พระพุทธโฆสเถระหรือพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระชาวชมพูทวีป ผู้เปรื่องปราดมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี พิจารณาเห็นว่าคัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกนั้นมีสมบูรณ์ บริบูรณ์อยู่แล้วในลังกาทวีป แต่ยังเป็นภาษาสิงหล ท่านจึงเดินทางไปลังกาทวีป ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้ามหานามเพื่อแปลและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ เพื่อให้เป็นตันติภาษา คือ ภาษาที่มีแบบแผนให้สอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งจะได้รับประโยชน์อย่างกว้างขวางอีกต่อไป นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกาทวีป

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ทำ ณ โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา พระพุทธโฆสเถระเป็นประธาน พระเจ้ามหานามทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นเวลา ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๗ พระมหากัสสปเถระและคณะสงฆ์ได้พิจารณาเห็นว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่า ปาลิ นั้นเป็นภาษามคธอักษรบาลี คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่า อรรถกถาได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธ อันเป็นตันติภาษาที่สอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ส่วนคัมภีร์อธิบายอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และคัมภีร์อธิบายฎีกา เรียกว่า อนุฎีกา ที่ยังไม่ได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธ ซึ่งเป็นภาษาสิงหลบ้าง ภาษาสิงหลปะปนกับภาษามคธบ้าง จึงควรจะได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธให้หมด จึงได้ดำเนินการแปลและเรียบเรียงคัมภีร์ดังกล่าวเป็นภาษามคธ ให้เป็นตันติภาษา คือ ภาษาที่มีแบบแผน เช่นเดียวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถา นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๔ ในลังกาทวีป

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาสันนิษฐานว่าน่าจะกระทำที่โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระเจ้าปรักกมพาหุทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป ใช้เวลาในการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นเวลา ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๘ พระธรรมทินเถระได้พิจารณาเห็นว่า พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ซึ่งมีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่มาก ด้วยการจำลองหรือคัดลอกกันต่อๆ มาเป็นเวลาช้านาน จึงได้เข้าเฝ้าถวายพระพรขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าติโลกราช เพื่อตรวจชำระพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกาให้ถูกต้องเสียใหม่

การทำสังคายนาครั้งนี้กระทำเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ ทำ ณ วัดโพธาราม เมืองพิสิกร คือ เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย พระธรรมทินเถระเป็นประธานและเป็นการกสงฆ์ คือ กรรมการเฉพาะกิจสงฆ์ในการเลือกพระสงฆ์จำนวนหลายร้อยรูป ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกาแล้วจารึกลงไว้ในใบลานด้วยอักษรธรรมของล้านนา นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๑ ในอาณาจักรล้านนา พระเจ้าติโลกราชหรือพระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ การทำสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาประชุมสงฆ์ ๑ ปีจึงสำเร็จ

การสังคายนาครั้งที่ ๙ ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก เพื่อชำระและแปลพระไตรปิฎกฉบับอักษรลาว และอักษรรามัญให้เป็นอักษรขอมแล้วจารึกลงใบลาน เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทอง ในครั้งนั้นมีพระสงฆ์ร่วมประชุม ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตอาจารย์อุบาสก ๓๒ คน สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระอภิธัมมปิฎก และพระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเสส (ตำราไวยากรณ์และอธิบายศัพท์ต่างๆ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการทำสังคายนาครั้งนี้ ๕ เดือนจึงสำเร็จ

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติวัดท้าวโคตร

ประวัติวัดท้าวโคตร

วัดท้าวโคตรเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1861 ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา สถานที่ตั้งวัดนี้เคยเป็นนิวาสสถานของพราหมณ์มาก่อน เท่าที่พอสืบค้นได้ปรากฏว่าแต่เดิมในบริเวณนี้วัดตั้งอยู่หลายวัด กล่าวคือ
1. วัดประตูทอง อยู่ทางด้านหลังสุดติดกับถนนพัฒนาการทุ่งปรังและวัดชายนา (ในปัจจุบันนี้)
2. วัดธาราวดี (วัดไฟไหม้) อยู่ทางด้านทิศเหนือ
3. วัดวา อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดประตูทอง และทางทิศใต้ของวัด
ธาราวดี
4. วัดศรภเดิม หรือวัดศรภ อยู่ทางทิศใต้บริเวณรอบ ๆ เจดีย์
5. วัดท้าวโคตร
โดยวัดเหล่านี้ในภายหลังได้กลายเป็นวัดร้างไปในที่สุด และมีผู้สันนิษฐานว่าในปี พ.ศ. 2452 หรือประมาณ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2453) พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากทรงนมัสการพระบรมธาตุฯแล้ว ทรงทราบเรื่องเทวาลัยที่วัดท้าวโคตรจึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรเทวาลัยที่ยังเป็นหลักฐานอยู่ และในวโรกาสนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณที่ใกล้ ๆ กับวัดท้าวโคตรนั้น มีวัดเล็กวัดน้อยตั้งเรียงรายอยู่หลายวัดย่อมไม่สะดวกต่อการปกครองของคณะสงฆ์ และคงไม่สะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจ จึงทรงรับสั่งให้ยุบวัดทั้งหลายรวมกันกับวัดท้าวโคตรเดิมให้เป็นวัดเดียวกันเสีย เรียกว่า “วัดท้าวโคตร” และทางราชการได้ออก ส.ค. 1 และโฉนดที่ดิน เลขที่ 9868 (พ.ศ. 2518) เพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิ์ถือครอง (น้อม อุปรมัย, 2526) คำว่า “วัดท้าวโคตร” นั้น น้อม อุปรมัย ได้ให้ความเห็นว่า เป็นชื่อที่ประชาชนเรียกกันเองในฐานะเป็นกษัตริย์พระองค์แรก แต่ชื่อที่ปรากฏต่อมาที่นักประวัติศาสตร์เรียกตามพราหมณ์ในอินเดีย….ส่วนชื่อ “วัดศรภ” นั้น คงสืบเนื่องมาจากการถวายพระเพลิงศพ พญาศรีธรรมโศกราชที่ 1 (น้อม อุปรมัย, 2526) ชื่อของพญาศรีธรรมโศกราชนั้นเป็นชื่อของกษัตริย์ที่สร้างเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช



สำหรับ “วัดศภเดิม” นั้น จากตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีข้อความที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับชื่อนี้ว่า “…..อยู่มายังมีพระมหาเถรองค์หนึ่งชื่อ สัจจานุเทพ อยู่เมืองนครป่าหมาก รื้อญาติโยมมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยพระยามหาเถรพรหมสุโยขอที่ตั้งเขตอาราม ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ ก่อพระเจดีย์ก่อกำแพงไว้ให้ญาติโยมรักษาอยู่ตามระญาอุทิศถวายไว้นั้นได้ชื่อว่า “วัดศรภเดิม”… และอีกตอนหนึ่งว่า “….อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรมศักราช 186 ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมาเป็นศรีมหาราชา แต่งพระธรรมศาลาทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัดศรภ มีพระบัณทุรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานสกา ศรีราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัดศรภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม 9 ยอด” (ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช)
เรื่องเล่าความเป็นมาของ “วัดท้าวโคตร” นั้น ราษฎรในบริเวณใกล้เคียงมีความเชื่อว่าเกี่ยวพันกับพระยาศรีธรรมาโศกราชและนางเลือดขาวซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในตำนานและนิทานพื้นบ้านของชาวใต้ สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับวัดท้าวโคตร เฉลียว เรืองเดช ได้เรียบเรียงไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 4 ดังนี้ พระยาศรีธรรมาโศกราชที่ 1 หรือชาวบ้านเรียกกันในฐานกษัตริย์ซึ่งทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชเป็นพระองค์แรกว่า “ท้าวโคตร” ได้ขุดกำแพงดินและคูน้ำล้อมรอบเมือง มุมกำแพงทุกมุม ให้ตั้งตุ่มใบใหญ่ใส่น้ำเต็มตุ่มอยู่มิได้ขาด กันข้าวยากหมากแพง ฝังหลักเมืองไว้ในบริเวณดังกล่าว สำหรับเทวสถานและเทวลัยได้สร้างขึ้นไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ตรงที่เรียกว่า วัดท้าวโคตรปัจจุบันไว้สำหรับประกอบศาสนกิจ ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ เทวาลัยที่ท้าวโคตรสร้างขึ้นนี้มีรูปพรรณสันฐานคล้ายปล้องกลมก่อด้วยอิฐโดยรอบ เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประยาวประมาณ 5 วา สูง 8 วา ตอนบนสุดไม่มียอด แต่มีฐานแยกขึ้นเป็นแท่นทางทิศตะวันออก สูงประมาณ 2 ศอก กว้างประมาณ 1 วา ตอนหน้าแท่นมีหินสีขาวก้อนสี่เหลี่ยมกว้างเกือบ 2 ศอก ยาวประมาณ 3 ศอก ตรงกลางขุดเป็นแอ่งสำหรับรองรับน้ำฝน ซึ่งถือกันว่าเป็นน้ำที่พระพรหมบนสรวงสวรรค์ประทานลงมา ตรงกลางปล้องมีช่องกลมเล็กขึ้นไปจากฐาน มีบันไดอิฐจากฐานขึ้นถึงลานข้างบน ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 6 ตารางวา ส่วนเหนือจากที่ทำเป็นแท่นกลายเป็นที่ว่าง ต่อมาใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพของท้าวโคตร เทวาลัยดังกล่าวยังปรากฏให้เห็น เมื่อถวายพระเพลิงแล้วบริเวณนั้นก็ค่อย ๆ กลายเป็นที่รกร้างมีสภาพเป็นป่า ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ ตัวเมืองแต่ไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่สำคัญ เพียงแต่เว้นเป็นช่องทางเดินเข้าออกที่จะไปประกอบพิธีบนเทวาลัยเท่านั้น



ประมาณ พ.ศ. 1535 – 1592 ศาสนาพราหมณ์เสื่อมลงศาสนาพุทธเข้ามาแทนที่บริเวณรอบ ๆ เทวสถานที่ไม่สำคัญก็ถูกชาวบ้านบุกรุกที่ทำกินและสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ส่วนเทวาลัยที่สำคัญๆ ชาวบ้านไม่กล้าแตะต้องดังนั้นศาสนาพุทธที่กำลังขยายตัวอย่างแรงกล้าก็เข้ามาแทนที่ ผู้เป็นหัวแรงในการสร้างกุฏิ วิหาร โรงธรรม อุโบสถ ขึ้นแทนตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่า คือ นางเลือดขาว นางได้ร่วมกับพุทธสนิกชน เป็นผู้สร้าง สถานที่ของศาสนาพราหมณ์ จึงกลายเป็นสถานที่ของศาสนาพุทธเกือบทั้งหมดแม้แต่เทวสถาน เทวาลัยที่วัดท้าวโคตรก็กลายเป็นวัด เรียกว่า “วัดท้าวโคตร” มีพระสงฆ์จำพรรษาและสร้างอุโบสถวิหารขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาส่วนเทวสถานที่ทำด้วยอิฐที่รูปเป็นปล้องสูง ดังกล่าวก็ยังเหลือให้เห็นจนกระทั่งบัดนี้ ส่วนที่ตั้งเป็นวัดท้าวโคตรก็อยู่ในวงแคบ คืออยู่ตรงบริเวณตอนหน้าและตอนหลังของเทวลัยที่เป็นปล้องสูงส่วนบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นส่วนของเทวสถานพราหมณ์ ชาวพุทธก็ชวนกันเข้าตั้งวัดกันเป็นการใหญ่อีกหลายวัด คือ วัดวา วัดประตูทอง วัดธาราวดี หรือ “วัดไฟไหม้” ที่ดินที่เหลืออยู่ซึ่งเป็นที่ตั้งเทวาลัยกับบริเวณทางทิศเหนือเทวาลัยรวมกันเป็น “วัดศรภเดิม” ใช้ที่ว่างตอนหลังเทวาลัยไปทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งวังของ “นางเลือดขาวเจ้าแม่อยู่” แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “วัดศรภ” (สืบเนืองมาตั้งแต่มีการถวายพระเพลิงพญาศรีธรรมโศกราชที่ 1) เมื่อนางเลือดขาวได้สร้างวัดพุทธสำเร็จ นางก็ลาจากวัดศรภไปเพื่อสร้างวัด และสาธารณสถานในที่อื่นอีก ก่อนออกจากเมืองนครศรีธรรมราชไปนางให้รวมที่ตั้งวัดกับบริเวณวังเข้าเป็นสถานที่แห่งเดียวกันแล้วตั้งชื่อว่า “วัดท้าวโคตร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กษัตริย์ปฐมวงศ์ คือพญาศรีธรรมาโศกราชที่ 1 (ท้าวโคตร) ดังกล่าวแล้ว (เฉลียว เรืองเดช, 2529)
ในวรรณกรรมมุขปาฐะบางบท ได้ให้ภาพลักษณ์ของวัดสบที่แตกต่างไปจากในปัจจุบัน
“เมืองคอนเหอ ใครห่อนเที่ยวจบ
ปากตูวัดศรภ มีช้างล่อหัว
แก้มตูทาชาด หลังคาคาดกัว
มีช้างล่อหัว ชะบุญ สมภารท่าน …เหอ….
จากการสัมภาษณ์ ดิเรก พรตะเสน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคดีชนวิทยา ได้ความว่าแต่เดิมนั้นในบริเวณวัดท้าวโคตรจะมีกำแพงอิฐอยู่ทางด้านหน้าอุโบสถ และวิหาร โดยมีประตูอยู่ทางด้านหน้าอุโบสถ และตกแต่งโดยทำเป็นรูปช้างโผล่หัวออกมาจากซุ้ม ต่อมาได้รื้อกำแพงดังกล่าวลงแล้วก่อเป็นกำแพงวัดใหม่ดังปรากฏในปัจจุบัน
หลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้แต่เดิมคงรู้จักกันในนามว่า “วัดศรภเดิม” โดยอาศัยจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏ ต่อมาเมื่อมีการรวบรวมวัดเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนเป็น “วัดท้าวโคตร” โดยโบราณวัตถุสถานต่าง ๆ ที่ปรากฏภายในเขตวัดมีการยืนยันวาเป็นของวัดสบเดิม อาทิ ชุมชนศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี ได้อ้างถึงการสมภาษณ์กระจ่าง โชติกูล ว่าองค์เจดีย์ที่ปรากฏอยู่เป็นของวัดสบเดิม (ชุมชนศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี, 2509 ) วิเชียร ณ นคร และคณะก็ได้กล่าวถึง องค์เจดีย์ในบริเวณวัดศรภนี้ ว่ารวมอยู่ในเขตวัดท้าวโคตรเช่นกัน (วิเชียว ณ นคร และคณะ, 2521)

โบราณวัตถุสถานที่สำคัญของวัดท้าวโคตร
ที่ตั้งแหล่งโบราณคดีวัดท้าวโคตร ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ลักษณะและสภาพของโบราณคดีแห่งนี้ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่บนสันทรายเก่านครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่ระหว่างเมืองโบราณนครศรีธรรมราช กับเมืองโบราณพระเวียง โดยตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณทั้งสองแต่เพียงเล็กน้อย ทางด้านทิศเหนือมีคลองสำคัญไหลผ่านคือคลองป่าเหล้า และทางด้านทิศไต้มีคลองสวนหลวงไหลผ่าน แต่เดิมในบริเวณนี้มีอยู่ 6 วัด คือ วัดศรภเดิม วัดวา วัดธาราวดี วัดประตูทอง และวัดท้าวโคตร จนในที่สุดจึงมีการรวมเป็นวัดเดียวกัน คือวัดท้าวโคตรในปัจจุบัน
การดำเนินงานทางโบราณคดี แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เมื่อปี 2509 รองศาสตราจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้นำนักศึกษาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาสำรวจในโบราณคดีในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เช่นเดียวกัน
หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ได้มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายอย่างคือ
1. สถูป มักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สถูปวัดศรภเดิม” หรือ “สถูปวัดท้าวโคตร” หรือ “เจดีย์วัดท้าวโคตร” ในขั้นต้นฐานของพระปรางค์ชำรุด คือเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมทุกด้าน ขนาดกว้าง 13.30 เมตร ยาว 13.30 เมตร เฉพาะทางด้านทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกไปประมาณ 5 เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระปรางค์วัดพระมหาธาตุ วัดเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แต่ตอนบนของฐาน ของพระปรางค์ ในวัดท้าวโคตรแห่งนี้ ได้ปรากฏร่องรอยว่ามีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นในองค์ระฆังของสถูปทรงกลม ก่ออิฐ รอบ ๆ สถูปหรือเจดีย์องค์นี้มีเจดีย์บริวารอยู่ 4 องค์ แต่มีผู้ได้ขุดทำลายเสียหาย ภายหลังกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นเจดีย์เหล่านี้ได้พบพระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากในเจดีย์เหล่านั้น สถูปองค์นี้มีอายุระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 19


พระพิมพ์ ที่พบจากกรุพระเจดีย์ขนาดใหญ่ รูปทรงคล้ายแบบศรีวิชัย พระพิมพ์ของวัดท้าวโคตรที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลายคือ พระพิมพ์เนื้อชินเงินสนิมปรอด ลักษณะเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นแผ่นค่อนข้างบาง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้วใต้ปรกโพธิ์ มีพระโมคคัลลานและสารีบุตร อัครสาวกซ้ายขวาพนมมือแสดงคารวะ ใต้อาสนะมีรากษสแบกฐาน 3 ตน ขอบด้านขวามีต้นไม้ 2 ต้น ด้านซ้าย 1 ต้น อีกแบบหนึ่งเป็นพระพิมพ์เนื้อชินเงินสนิมปรอดเช่นเดียวกัน ผิวแตกระเบิด ทำเป็นองค์เดียว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฐานราบลงทองล่องชาด อยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดตรีศูล พระพิมพ์กรุวัดท้าวโคตรทั้ง 2 แบบนี้เป็นฝีมือช่างนครศรีธรรมราช
2. อุโบสถ หลังเก่าซึ่งตั้งอยู่หน้าวัด มีประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2330 แต่สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นการบูรณะขึ้นในสมัยหลังทั้งสิ้น ทั้งกำแพง ผนังและโครงสร้างหลังคา คงมีแต่พระพุทธรูปปางมารวิชัยและใบเสมาเก่ารอบอุโบสถเท่านั้น ที่พอจะยืนยันถึงอายุสมัยได้ว่าคงสร้างขึ้นราวสมัยรัตนโกสินทร์ต้อนต้นหรือสมัยอยุธยาตอนปลาย
ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือขององค์เจดีย์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอุโบสถหลังหนึ่งที่มีความชำรุดทรุดโทรมมาก จึงคงจะยังเหลืออยู่เฉพาะส่วนฐานของพระอุโบสถที่มีอิฐวางเรียงรายออกพ้นมาจากตัวอาคาร จึงได้มีการสร้างหลังคาไม้และผนังก่ออิฐขึ้นมาใหม่ลงบนอุโบสถเดิม อุโบสถหลังเดิมน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
ลักษณะของอุโบสถเป็นเนินดินสูงกว่าระดับข้างเคียง 1 เมตร เป็นอาคารทรงไทย ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 23 เมตร 33 เซนติเมตร ภายในมีขนาด 7 ห้อง มีเสาภายใน 5 คู่ ด้านหน้า 2 ห้อง ผนังก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ 2 เมตร ช่องบนเป็นเสาขึ้นรับเชิงชาย ระหว่างเปิดผนังมีช่อง มีบานเหลือไม้กั้นเป็นช่องลม หลังคามุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลม
ด้านหน้ามีประตู 4 บาน สร้างซุ้มประตูเป็นทรงโค้งครึ่งวงกลมมีเสาประดับกรอบประตู คล้ายประตูกำแพง ด้านข้างทิศเหนือใกล้องค์พระประธานมีประตู 1 บาน ด้านหลังพระประธานไม่มีประตู ก่อเป็นผนังทึบไปถึงเชิงชายด้านบน
พระพุทธรูปในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยซึ่งเป็นองค์พระประธานในอุโบสถหลังนี้ มีขนาดหน้าตัก 183 นิ้ว สูงประมาณ 195 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ คงจะสร้างพระพุทธรูปพร้อมกันกับการสร้างอุโบสถขึ้นเป็นครั้งแรก มีการบูรณะเพียงเล็กน้อยที่องค์พระ พระพุทธรูปองค์พระประธานองค์นี้เป็นฝีมือช่างนครศรีธรรมราช มีลักษณะพระพักต์คล้ายกันกับพระประธานที่วิหารวัดสบเดิม และที่วิหารหลวงวัดพระมหาธาตุฯ มีอายุอยู่ระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
3. จิตรกรรม เป็นภาพจิตรกรรมที่ได้สร้างสรรค์เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เขียนลงบนไม้กระดานคอสอง เป็นภาพเขียนสีฝุ่น ขนาดภาพกว้าง 37 เซนติเมตร ยาว 56 เซนติเมตร ประดับไว้ที่เสายาวข้างละ 5 ต้น ด้านซ้ายและด้านขวาของด้านหน้าพระประธานในอุโบสถสูงจากพื้นประมาณ 3 เมตร เป็นภาพพุทธประวัติและทศชาดก จำนวน 40 ภาพ คงจะได้รับการสร้างสรรค์เขียนขึ้นในคราวที่มีการสร้างหลังคาของอุโบสถแทนของเดิมที่ปรักหักพังลงไป อายุประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 ลงมา


4. ใบเสมา ทางด้านนอกของอุโบสถ มีใบเสมาตั้งอยู่บนฐานทั้ง 8 ทิศ ใบเสมาสูงประมาณ 140 เซนติเมตร ในเสมาเหล่านี้สลักด้วยหินทราย สลักด้วยแบบเดียวกันทั้งสองด้าน ส่วนฐานเป็นรูปสามเหลี่ยมพื้นผ้า ถัดจากฐานขึ้นไปมีลักษณะคอดกิ่ว แล้วค่อย ๆ ผายออกทางด้านบน แล้วค่อย ๆ โค้งมนเป็นส่วนยอดที่มีปลายแหลมคล้ายใบโพธิ์ ภายในสลักด้วยลวดลายพรรณพฤกษา อาจจะศึกษาเปรียบเทียบกันได้กับใบเสมาในศิลปะอู่ทองที่ค้นพบในภาคกลางของประเทศไทยและกำหนดให้มีอายุอยู่ในระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
5. เนินโบราณสถานด้านหน้าองค์สถูปหรือเจดีย์ (วิหาร) บริเวณเนินโบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์เจดีย์ (ทางทิศตะวันออก) ไม่ทราบขนาดที่แน่นอน วิหารหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นในครั้งแรกในคราวที่นางเลือดขาวสร้างวัดศภเดิม(วัดศรภเดิม) ภายในวิหารหลังนี้มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประทับนั่ง 3 องค์ องค์พระประธานมีหน้าตักกว้าง 81 นิ้ว สูง 103 นิ้วและองค์พระพุทธรูปทั้งสองข้าง มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 26 นิ้ว วิหารหลังเก่าได้พังทลายลงไป และได้มีการวิหารขึ้นมาหลายครั้งด้วยกัน วิหารหลังปัจจุบันนี้ชาวพุทธได้รวบรวมเงินสร้างขึ้นมามีขนาดกว้าง 4.10 เมตร ยาว 5 เมตร อายุพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยทั้ง 3 องค์ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 – 20
6. ระฆัง เป็นระฆังโบราณของวัดท้าวโคตร มีอายุประมาณ 463 ปี ระฆังใบนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2083 วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเททองหล่อพระพุทธรูป 30 องค์ ที่วัดศรภเดิมหรือวัดท้าวโคตรในปัจจุบันนี้
ขนาดของระฆังโบราณใบนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 51 เซนติเมตร สูง 91 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 4 - 5 คนยก เนื้อสำริด
ระฆังโบราณใบนี้เป็นระฆังประจำวัดท้าวโคตร ใช้ตีบอกสัญญาณเวลาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น สวดมนต์ทำวัตรเช้า สวดมนต์ทำวัตรเย็น และพิธีกรรมอื่น ๆ ของวัด ระฆังโบราณใบนี้ไม่ทราบว่าหอระฆังเดิมทีนั้นตั้งอยู่ที่ตรงไหนของวัดท้าวโคตรนี้ แต่มีเรื่องเล่าว่ามีโจรมาขโมยระฆังโบราณใบนี้หลายครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่สามารถนำเอาระฆังโบราณใบนี้ไปได้ ครั้งหลังสุดได้มีคนมาขโมยระฆังโบราณอีก ปรากฏว่าระฆังใบนี้ตกใส่เท้าได้รับบาดเจ็บก็ไม่สามารถนำเอาระฆังโบราณใบนี้ไปได้อีก ต่อมาพระครูอุดมสมถกิจอดีตเจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร ได้นำเอาระฆังใบนี้มาไว้ในกุฏิเจ้าอาวาสจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ลำดับเจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร มีดังนี้
1. …………………………………………………
2. …………………………………………………
3. …………………………………………………
4. …………………………………………………
5. พระปลัดแป้น เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. ……ถึง พ.ศ. 2480
6. พระครูอุดมสมถกิจ เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2523
7. พระครูวิจิตรบุญสาร เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2539
8. พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2539 ถึง ปัจจุบัน